‘อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล’ รู้ไว้ ปลอดภัยก่อน! ลดการเกิดอุบัติเหตุ

ในการดำเนินงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยโดยทั่วไปพบว่าสถานประกอบกิจการหลายๆ แห่ง มักนำ อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment – PPE) มาใช้เป็นหนึ่งในมารตรการควบคุมและป้องกันอันตราย เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ให้กับผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอ ดังนี้

อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล

อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล

1. อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ ใช้สำหรับป้องกันศีรษะจากการกระแทก การเจาะทะลุของของแข็ง อันตรายจากไฟฟ้าและสารเคมีเหลว

2. อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตา ใช้สำหรับป้องกันใบหน้าและดวงตาจากการกระทบกระแทกของของแข็ง การกระเด็นของสารเคมีของเหลวอันตรายอื่นๆ อันตรายจากงานเชื่อมโลหะ เช่น แว่นตานิรภัย ครอบตานิรภัย กระบังหน้า กระบังหน้าสำหรับงานเชื่อมโลหะ

3. อุปกรณ์ป้องกันมือและแขน ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับมือและแขน จากสารเคมี วัตถุมีคม อุณหภูมิร้อนและเย็น ไฟฟ้า เชื้อโรค และสิ่งสกปรก เช่น ถุงมือ ปลอกแขน และปลอกนิ้ว

4. อุปกรณ์ป้องกันขาและเท้า ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับขาและเท้าจากการกระแทก ทับหรือหนีโดยวัตถุแข็ง การหกใส่ของสารเคมี การสัมผัสกับกระแสไฟฟ้า เช่น รองเท้านิรภัย รองเท้ายาง และรองเท้าพลาสติก

5. อุปกรณ์ป้องกันลำตัว ใช้สำหรับป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลำตัวจากการกระเด็นของสารเคมีอันตราย โลหะหลอมเหลว การสัมผัสอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดรวมถึงไฟไหม้ การกระแทกกับวัตถุแข็งต่างๆ เช่น ชุดป้องกันความร้อน แผ่นคาดลำตัว หรือเอี๊ยม เป็นต้น

6. อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ ใช้สำหรับป้องกันไม่ให้สารอันตรายหรือสารพิษที่ปนเปื้อนในอากาศเข้าสู่ร่างกายทางระบบหายใจ เช่น หน้ากากกรองอากาศ ชุดส่งผ่านอากาศ อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจแบบมีถังอากาศพกพา

7. อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง ใช้สำหรับลดระดับเสียงดังจากสภาพแวดล้อมการทำงานให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยก่อนเข้าสู่ระบบการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยิน เช่น ที่อุดหูลดเสียง และที่ครอบหูลดเสียง

8. อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง ใช้สำหรับป้องกันไม่ให้คนทำงานในที่สูงตกสู่เบื้องล่าง เช่น เข็มขัดนิรภัย สายรัดตัวนิรภัย เชือกนิรภัย และสายช่วยชีวิต

อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่!

Tags